
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 19 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ใจกลางเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการรวมช่างฟ้อนกว่า 7,218 ชีวิต เพื่อมาทำการฟ้อนเล็บบันทึกสถิติโลก Guinness World Records เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 729 ปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในกิจกรรม
โดยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และองค์กรเครือข่ายทั่วทั้งจังหวัด นำช่างฟ้อนเล็บอย่างพร้อมเพรียงกัน
สำหรับการฟ้อนเล็บที่ใช้แสดงในครั้งนี้เป็นฟ้อนเล็บล้านนาดั้งเดิม อัตลักษณ์เจ้าหลวงพระราชชายาเจ้าดารารัศมี แห่งคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ ที่มีลีลาท่วงท่าอ่อนช้อย สื่อถึงความวิจิตรแห่งศิลปะพื้นเมืองที่สะท้อนรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวล้านนา โดยมีจุดฟ้อนหลักอยู่ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และกระจายไปตามประตูเมืองสำคัญ ได้แก่ ประตูท่าแพ ประตูช้างเผือก ประตูเชียงใหม่ ประตูสวนปรุง และประตูสวนดอก
สำหรับบรรยากาศได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ตื่นตาตื่นใจ เมื่อพบเห็นได้ก็มีการถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก และตั้งใจเฝ้าชมความงดงามของปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์อย่างเนืองแน่น ซึ่งทางคณะกรรมการจาก Guinness World Records ได้ขึ้นกล่าวทักทายและอธิบายกติกาในเบื้องต้น ต่อมาก็ได้มีการให้สัญญาณในการเริ่มทำการแข่งขันบันทึกสถิติโลกในการฟ้อนเล็บที่จังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ตามการแสดงในครั้งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่จาก Guinness World Records ที่เดินทางมาตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ทั้งจำนวนผู้เข้าร่วม ความพร้อมเพรียง และรูปแบบการแสดง ก่อนออกใบรับรองและจารึกสถิติอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการประกาศศักดิ์ศรีวัฒนธรรมล้านนา ให้โลกได้ประจักษ์ผ่านพลังความร่วมมือของคนทั้งเมือง พร้อมส่งต่อความงดงามนี้สู่สายตานานาชาติ
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมที่เน้นเศรษฐกิจวัฒนธรรมผลักดันสู่อุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ยกระดับการท่องเที่ยวและประเพณีของไทยให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาสัมผัสประเพณีของไทย
จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมีความโดดเด่นทางด้านศิลปะวัฒนธรรมภูมิปัญญารวมทั้งประเพณีที่เอกลักษณ์ล้านนา ซึ่งมีการสื่อสารความเป็นล้านนาจากรุ่นสู่รุ่นทำให้นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติได้รู้จักว่าเชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่งดงามของไทย
กิจกรรมในวันนี้แสดงให้เห็นว่าชาวจังหวัดเชียงใหม่เองมีศิลปะและวัฒนธรรมที่โดดเด่นรวมไปถึงพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่เองมีความรักความสามัคคีมีความเข้มแข็งที่จะร่วมกันอนุรักษ์สืบสานต่อยอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้อย่างดีเยี่ยมส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่มีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
ทั้งนี้ในปีหน้าจังหวัดเชียงใหม่จะเข้าสู่ปีที่ 730 ปี จึงขอสร้างการรับรู้และผลักดันให้เมืองเชียงใหม่เข้าสู่เมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโกต่อไป จึงขอชื่นชมจังหวัดเชียงใหม่สมาคมสตรีนครเชียงใหม่หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้รวมไปถึงการร่วมใจร่วมแรงผลักดันให้ขับเคลื่อนและประสบความสำเร็จไปด้วยดี.